Uncategorized

สำเร็จ! ชะลอขุดย้ายต้นไม้มหิดล

image
มีโอกาสได้นั่งคุยกับ นัท นราวุฒิ สุวรรณัง  นักศึกษาปริญญาเอก คณะเทคนิคการแพทย์  มหาวิทยาลัยมหิดล  ผู้รณรงค์เรื่อง  “คัดค้านโครงการขุดล้อมต้นไม้ ด้านหลังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระราชบิดา” มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ผ่านwww.change.org/salayatrees  ถึงความเป็นมาและความสำเร็จของการรณรงค์ที่ทำให้ผู้บริหารเลื่อนโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ทำไมถึงลุกขึ้นมารณรงค์เรื่องนี้ บน Change.org?

เหตุที่รณรงค์เรื่องนี้เพราะช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะดำเนินการขุดล้อมต้นไม้ ในสวนเจ้าฟ้าในช่วงเวลาที่นักศึกษาปิดเทอมพอดี และยังเป็นการปิดเทอมยาวถึง 6เดือนอีกด้วย  ผมจึงตัดสินใจรณรงค์เรื่องนี้เพราะคิดว่าอยากทำอะไรซักอย่างให้เรื่องนี้ไม่เงียบ และจบอยู่ภายในกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ  ผมคิดว่าการดำเนินโครงการนี้ช่วงปิดเทอมเป็นการกระทำที่เหมือนว่าไม่อยากให้นักศึกษา หรือบุคลากร ของทางมหาวิยาลัยรับรู้ ซึ่งถ้าทำสำเร็จ กว่านักศึกษาจะเปิดเทอมกลับมา ก็คงทำอะไรไม่ได้แล้ว อีกอย่าง นักศึกษาในวิทยาเขตศาลายานี้ส่วนมาก เรียนที่นี่แค่ปีเดียว  นักศึกษาที่เข้ามาใหม่ในปีหน้า ไม่มีทางรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ผมจึงเข้ามารณรงค์บน Change.org เพื่อรวบรวมรายชื่อคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ส่วนตัวผมเองรู้จัก Change.org จากแคมเปญ คัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม ซึ่งทาง Change.org ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ที่นี่เป็นช่องทางให้คนแสดงจุดยืนของตัวเอง และสามารถเปิดโอกาสให้คนที่ความคิดคล้ายๆกับเรา มีจุดยืนเหมือนกัน ได้ร่วมแสดงพลัง โดยไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ซึ่งเสียงเล็กๆของแต่ละคนก็เหมือนกับหยดน้ำเล็กๆ ที่เหมือนจะไม่มีพลัง ไม่ได้รับความสนใจ ถ้ามารวมกันมากๆ มันอาจจะกลายเป็นแอ่งน้ำ ทะเลสาป หรือแม้แต่มหาสมุทร ซึ่งทุกคนสามารถเห็นได้ ทีนี้เรื่องการคัดค้านการขุดล้อมต้นไม้ในสวนเจ้าฟ้าของพวกเราชาวมหิดล ก็จะไม่ได้จบลงอยู่แค่ในคนกลุ่มเล็กๆอีกต่อไป

ความคืบหน้าของการรณรงค์เป็นยังไงบ้างคะ?

หลังจากทำแคมเปญได้ 2 วัน  ตอนนั้นมีผู้ลงชื่อประมาณ 200 คน ทางผู้บริหารก็เรียกมาหารือด้วยทันที ซึ่งถือว่าเร็วมาก ซึ่งคงเป็นเพราะทุกครั้งที่มีการลงชื่อก็จะมีอีเมล์จดหมายร้องเรียนไปถึงผู้บริหารโดยตรงทันที ทำให้ท่านทราบว่ามีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และได้เขียนตอบที่หน้าเพจรณรงค์ช่อง Desicion maker ว่าทางผู้บริหารได้รับเรื่องแล้วและได้มีการจัดเวทีชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นทันทีและได้ตอบรับข้อเสนอมาบ้างแล้ว โดยทางผู้บริหารบอกว่าจะเลื่อนโครงการนี้ออกไปก่อน และล่าสุดได้มี อาจารย์ผู้ใหญ่เสนอตัวมาเป็นคนกลางเจรจาเรื่องนี้ระหว่างนักศึกษากับทางมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดวันครับ ก็นับว่าเป็นความสำเร็จของเสียงเล็กๆภายในมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ ที่ทำให้ผู้ใหญ่ได้ยิน

image

ที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง และ จากนี้ไปจะทำอะไรต่อไป?

เราได้รณรงค์เรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม เพราะสวนแห่งนี้มีความสำคัญต่อพวกเรามาก เนื่องจากสวนแห่งนี้ เป็นพื้นที่แห่งนี้มีคุณค่าความสำคัญทั้งทางด้านสัญลักษณ์และความหมาย กล่าวคือคำว่า “สวนเจ้าฟ้า” เป็นสวนที่จัดขึ้นมาเพื่อระลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระเกียรติคุณของสมเด็จพระบรมราชชนก “เจ้าฟ้ามหิดล” ผู้ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมหิดล และยังเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาใช้ทำกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นสถานที่แห่งความทรงจำอีกแห่งหนึ่งเมื่อเอ่ยถึงมหิดลศาลายา

ที่ผ่านมาทางกลุ่ม “ทวงคืนสวนเจ้าฟ้า”  ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษาและบุคลากรมหิดลที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการขุดย้ายต้นไม้สวนเจ้าฟ้า และภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ต้นไม้ ได้ร่วมกันจัดพิธีทำบุญต่ออายุต้นไม้ ณ สวนเจ้าฟ้า โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ 88 รูป เท่ากับจำนวนต้นไม้ใหญ่ 88 ต้นที่จะถูกขุดย้ายออกไป ซึ่งแต่ละต้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี  เและก็มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายความหลากหลายทางชีวภาพของสวนแห่งนี้  โดยมีนักศึกษาและชาวมหิดลเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นอกจากนี้น้องๆคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ยังได้ลงพื้นที่สำรวจ สิ่งมีชีวิตในสวนเจ้าฟ้า ผลการสำรวจพบนกกว่า 20 ชนิด และพบสัตว์อื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น  กระรอก เต่า ผีเสื้อฯลฯ เพราะพื้นที่สวนเจ้าฟ้าแห่งนี้เป็นพื้นที่สีเขียวที่สำคัญและเป็นแห่งสุดท้ายของมหาลัย

ส่วนกิจกรรมจากนี้ไปคงต้องรอเวทีการพูดคุยกับผู้บริหารเพราะ ตอนนี้อยู่ในช่วงปิดเทอม นักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการออกค่ายกับชมรมและเดินทางกลับบ้านครับ

image

อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอย่างนี้บ้าง?

อย่ารีรอครับ อะไรที่เราทำได้ ทำให้ถึงที่สุดครับ ถึงแม้จะมีความหวังเพียงน้อยนิด ถึงแม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ดีกว่าอยู่เฉยๆไม่ทำอะไร ยอมรับมันซะเฉยๆ การกระทำทุกอย่างไม่สูญเปล่าหรอกครับ

imagewww.change.org/salayatrees

เริ่มเรื่องรณรงค์ของคุณเองได้ที่นี่ 
Written by
Change.org
April 10, 2014 8:54 am