Uncategorized

เมื่อแม่ของลูกพิการคนหนึ่งตั้งคำถามกับ สนช.

4 เดือนหลังคุณศรัญญา หรือ “คุณแม่น้องการ์ตูน” เหยื่อวัยรุ่นขับรถซิ่งบนทางรถสาธารณะยื่นเรื่องต่อสภานิติบัญญัติเเห่งชาติขอเพิ่มโทษคนขับรถซิ่งและชนคนตายบนทางสาธารณะ คำตอบที่ได้คือ

ไม่สามารถเพิ่มโทษได้ เพราะไม่มีบทลงโทษฐานแข่งรถในทางสาธารณะแล้วชนคนตายบัญญัติอยู่ในกฎหมาย”

เมื่อต้นปี 2560 คุณศรัญญา ชำนิ คุณแม่ของ “น้องการ์ตูน” เด็กหญิงวัย 8 ขวบ ที่ต้องกลายเป็นคนพิการทางสมองนอนติดเตียงไปตลอดชีวิต จากเหตุการณ์รถกระบะขับแข่งพุ่งชนน้องกับพ่อซึ่งเสียชีวิตทันที ได้มาสร้างแคมเปญเรียกร้องให้ “เพิ่มบทลงโทษคนขับรถแข่งบนทางสาธารณะแล้วชนคนตายให้เท่ากับเจตนาฆ่าคนตาย” บนเว็บไซต์ Change.org และสามารถรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนได้ถึง 35,000 รายชื่อ

“สรุปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ได้ฉันได้รับคือ ความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก + เป็นหนี้โรงพยาบาล 2 ล้านกว่าบาท + กระดาษ 1 ใบซึ่งเป็นคำตัดสินของศาล + ภาระการติดตามสืบทรัพย์คู่กรณี และการติดคุกความทุกข์ทรมานตลอดชีวิตของลูกสาวรวมไปถึงความทุกข์ใจของญาติและครอบครัว ส่วนคู่กรณีติดคุกเพียง 1 ปี ปรับ 3,000 บาท และหากเขาทำตัวเองให้เป็นบุคคลล้มละลาย หลังจากล้มละลาย 3 ปี เขาจะกลับมามีชีวิตปกติไม่ต้องชดใช้ตามที่ศาลตัดสินแม้แต่อย่างใด” เนื้อความตอนหนึ่งของเรื่องรณรงค์

หลังจากเริ่มเรื่องรณรงค์ คุณศรัญญาได้คำแนะนำจากรองปลัดระทรวงยุติธรรม นายธวัชชัย ไทยเขียว ว่า “เวลาศาลพิจารณาลงโทษ ท่านก็จะดูตามตัวบทกฎหมาย การขับรถโดยประมาทในที่สาธารณะโทษไม่สูง เพราะฉะนั้นเราจะยึดหลักเหมือนนานาอารยะประเทศไหม เช่น เมาแล้วขับ ให้เหมือนกับเตรียมการหรือพยายามฆ่า” และกล่าวปิดท้ายว่า การยื่นเรื่องจากประชาชนเพื่อขอแก้กฎหมายสามารถทำได้โดยตรงกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 คุณศรัญญาจึงได้นำจดหมายร้องเรียนพร้อมรายชื่อประชาชนเข้ายื่นต่อพลโท จเรศักณ์ิ อานุภาพ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคุณศรัญญาเล่าว่า “ในวันนั้น สนช. รับฟังและตอบกลับว่า จะขอรับข้อเรียกร้องของคุณแม่ไว้พิจารณาแก้กฎหมายต่อไป โดยขอใช้กรณีของคุณแม่เป็นกรณีตัวอย่าง”

4 เดือนหลังเข้าพบสนช. ล่าสุด คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาข้อเสนอของคุณศรัญญา ร่วมกับข้อมูลประกอบจากปลัดกระทรวงคมนาคม และตอบกลับด้วยจดหมายราชการที่มีเนื้อความระบุว่า “พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ไม่มีบทลงโทษในความผิดฐานแข่งรถในทาง จึงไม่มีอำนาจในการเพิ่มโทษในกรณีนี้

จดหมายจาก สนช. ฉบับนี้ ทำให้คุณแม่ของน้องการ์ตูนเกิดคำถามขึ้นอีกครั้ง

“คำตอบที่ได้คือ พ.ร.บ.รถยนต์ ไม่มีบทลงโทษฐานแข่งรถในทางสาธารณะแล้วชนคนตาย จึงไม่สามารถเพิ่มโทษได้ แต่จะให้ตำรวจช่วยตรวจสอบและจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฏหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ในเมื่อไม่มีบทลงโทษฐานแข่งรถในที่สาธารณะทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นปัญหา ทำไมถึงไม่สามารถแก้ไขให้มีโทษขึ้นมา แทนที่จะใช้เป็นเหตุผลว่าเพราะไม่มีโทษแต่แรก เลยไม่สามารถเพิ่มโทษได้”

“อ่านแล้วคำพูดที่ว่าไม่เกิดขึ้นกับตัวคงยากที่จะเข้าใจ มันแล่นขึ้นมาทันที น่าเศร้าที่พวกเราต้องดูแล ระมัดระวังตัวเองกันต่อไป ทำไมมันกลายเป็นการดำรงชีพที่ต้องพึ่งพาดวงชะตา โชคดีก็อยู่รอดจนแก่เฒ่า โชคร้ายก็..ยอมรับและทำใจกันไป ทำไมเราต้องเสี่ยง กับเรื่องที่ไม่ควรเสี่ยง?” [อ่านต่อ]

โดยก่อนหน้านี้ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้ให้สัมภาษณ์ออกสื่อ โดยยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นประกอบประเด็นกฏหมายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนโดยกล่าวว่า หลังจากที่ญี่ปุ่นเพิ่มโทษเมาแล้วขับเป็นการขับรถอันตรายมีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี สถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และกล่าวเสริมว่าตนเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคุณแม่น้องการ์ตูน

อย่างไรก็ดี คุณแม่ได้ยืนยันผ่าน เพจร้านสเต็กคุณแม่การ์ตูน mother’s grill steak house ว่า “จะเดินหน้าต่อไป และขอยื่นเรื่องอีกครั้ง” ซึ่งมีลูกเพจโพสข้อความให้กำลังใจอย่างล้นหลาม

ภาพจากเฟซบุ๊ค “ร้านสเต็กคุณแม่การ์ตูน”

Written by
hatailimprayoonyong
August 15, 2017 4:23 am