Uncategorized

ที่สุดแห่งปี 2016 บน Change.org

หนึ่งปีที่ผ่านมาเรื่องราวของความเป็น “ที่สุด” เกิดขึ้นหลายครั้งในเมืองไทย หลายเหตุการณ์ก็ได้กลายมาเป็น “ที่สุด”บนเว็บไซต์รณรงค์ออนไลน์ Change.org ซึ่งได้มีส่วนช่วยให้คนธรรมดาๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่ต้องการ ปลุกกระแส กระตุ้นให้เกิดการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวาง และสร้างการเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องต่างๆ

ชัยชนะที่สั่นสะเทือนระบบสาธารณสุขไทยมากที่สุด : การรณรงค์ให้มี “คณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน” ถือเป็นแคมเปญที่สร้างความตื่นตัวให้กับทั้งคนในวงการสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปอย่างมาก เพราะเรียกร้องให้มีการเพิ่มกลไกรักษาสมดุล สร้างความหวังในการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงของโรงพยาบาลเอกชน ที่ปัจจุบันทำให้หลายคนขยาดที่จะป่วย  33,000 รายชื่อที่รวบรวมได้ถูกนำยื่นเพื่อประกอบการพิจารณาคำร้อง หลังจากการรณรงค์อันยาวนานอย่างไม่ท้อถอย ในที่สุดก็มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าไปนั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการได้สำเร็จ

เจ้าของแคมเปญที่มีแฟนคลับเยอะที่สุด : เจ้าของแคมเปญ “ช่วยคาร์เมนให้ได้กลับบ้านพร้อมกับครอบครัว ขอสิทธิ์ ‘ผู้ปกครอง’ ให้บุคคลเพศเดียวกัน” คือคุณพ่อชาวอเมริกันและสเปนที่ได้ใจชาวไทยไปเต็มๆ จากการทุ่มเทพลังแห่งความรักต่อสู้เพื่อเด็กหญิงคาร์เมนที่เกิดจากการอุ้มบุญโดยแม่อุ้มบุญชาวไทย และประสบปัญหาไม่สามารถพาเธอออกนอกประเทศเป็นเวลากว่า 1 ปี ทุกครั้งที่มีการยื่นรายชื่อ ไปฟังคำตัดสินจากศาล หรืองานแถลงข่าวจะมีแฟนคลับมาคอยให้กำลังใจไม่ขาดสาย คาร์เมนมีขนมให้ทานมากมาย เซลฟี่กับแฟนๆ ได้ยาวนานแบบไม่งอแง แถมแฟนคลับยังแปลงสถานะเป็นพี่เลี้ยงชั่วคราวคอยดูแลเธอด้วยความเอ็นดู และในที่สุดครอบครัวขวัญใจชาวประชาก็ได้รับชัยชนะ คาร์เมนได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวของเธออย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ส่วนแฟนคลับก็ยังติดตามชีวิตของเธอจากโซเชียลมีเดียด้วยความคิดถึง

 

แคมเปญที่สะเทือนใจคนรักสัตว์เป็นที่สุด : แคมเปญ “ขอบทลงโทษสูงสุดตามพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์สำหรับคนใจโหดขอลูกแมวมาเลี้ยงแล้วฆ่าทิ้ง” เป็นการรณรงค์ที่เต็มไปด้วยความโกรธปนเศร้าแต่ก็เปี่ยมด้วยความฮึกเหิม มีองค์กรที่ทำงานเพื่อสัตว์และกลุ่มผู้รักสัตว์มากมายเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อกระตุ้นสังคมให้ออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างครึกโครม ซึ่งในที่สุดแล้วชายคนดังกล่าวก็ถูกลงโทษด้วยการตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ตามข้อเรียกร้องที่ต้องการให้กฏหมายคุ้มครองสัตว์ศักดิ์สิทธิ์

แคมเปญที่ได้รับการคอมเม้นต์บ่อยครั้งที่สุด : “สุดทน ! ร้านบาบิก้อนใช้ช่องน้ำซุปแคบและตื้นใส่กะหล่ำลำบาก ช้อนก็ยากเหลือเกิน” และ “สนับสนุนให้ KFC ขายไก่ทอดชิลลี่ชีสอย่างถาวร” สองเรื่องรณรงค์ที่ถูกคอมเม้นต์มานับครั้งไม่ถ้วนถึง “เนื้อหาสาระ” ของแคมเปญ ว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กจ้อยร่อยเกินกว่าที่จะเอามารณรงค์ลงชื่อกันบน Change.org รึเปล่า แต่ด้วยความเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างสนับสนุนให้ทุกคนมีเสรีในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรก็ได้ สองเรื่องรณรงค์นี้จึงมีพื้นที่บนเว็บไซต์เหมือนกับเรื่องรณรงค์อื่นๆ บน Change.org แถมหลังจากเรื่องรณรงค์ทั้งสองกระจายตัวไปโดยไวในโลกโซเชียล ก็เกิดอานิสงส์ให้กระทะของบาบิก้อนกว้างขึ้น (แม้จะกลายเป็นสีดำไปหน่อย) และท่านผู้พันก็กลับมาขายไก่ทอดชิลลี่ชีสพักใหญ่เลย

แคมเปญที่ทำให้เซิร์ฟเวอร์ Change.org ทำงานหนักที่สุด: เรื่องรณรงค์ “หยุด #พ.ร.บ. คอม หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” เป็นแคมเปญที่มีผู้ลงชื่อสนับสนุนแบบถล่มทลายมากที่สุดในรอบปี 2016 กวาดรายชื่อไปทั้งหมดถึง 370,000 รายชื่อ โดยกระโดดจาก 40,000 ชื่อมาเป็น 300,000 ชื่อ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งถือว่าชื่อเพิ่มเร็วที่สุดในรอบปี 2016 ด้วยเช่นกัน ด้วยประเด็นรณรงค์ที่จี้จุดชาวเน็ตเกี่ยวกับเสรีภาพการใช้งานอินเตอร์เน็ตได้รับการพูดถึงอย่างต่อเนื่องจากสื่อหลายสำนัก สามารถจุดประเด็นกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่รายละเอียดเยอะเข้าใจยาก แม้ในที่สุด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับดังกล่าวจะผ่าน (และมีการปรับแก้ไขตามข้อเสนอของภาคประชาชนไปบางส่วน) แต่การรณรงค์ครั้งนี้ได้ปลุกให้คนจำนวนมากตื่นตัว ไม่เพิกเฉยกับเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของตนและกระบวนการพิจารณากฏหมายที่ส่งผลถึงคนทั้งประเทศ

แคมเปญที่ต้องต่อสู้นานที่สุด : 12 ปีคือระยะเวลาที่คุณอังคณา นีละไพจิตร เจ้าของเรื่องรณรงค์ “รื้อคดี “ทนายสมชาย” อย่างโปร่งใสและอิสระ” ต้องรอคอยการตัดสินคดีที่ทนายสมชาย สามีของเธอหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากศาลตัดสินยกฟ้องคดี เธอได้เริ่มรณรงค์ให้มีการรื้อคดีและสืบสวนอย่างเป็นธรรมอีกครั้ง พร้อมผลักดันให้มีกฏหมายป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัตยาบันอนุสัญญาอุ้มหาย และเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความหวัง หลังจากที่ได้พยายามมายาวนานกว่าสิบปี

แคมเปญที่ข้ามขอบฟ้ามาไกลที่สุด : ภาพยนตร์แอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นเรื่อง “Your Name” ได้รับกระแสเรียกร้องจากแคมเปญรณรงค์ “ให้อนิเมะเรื่อง Kimi no Na wa เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ” มีการแชร์ในหมู่ผู้รักอนิเมะญี่ปุ่นและคอหนัง ในที่สุดแฟนๆ “Your Name” ก็ส่งเสียงถึงหู โรงภาพยนตร์ โดย “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ประกาศฉายอนิเมะเรื่องนี้ ทุกสาขาทั่วประเทศ แถมหลังจากการรณรงค์นี้ ก็มีผู้ใช้งานเข้ามาตั้งแคมเปญบน Change.org ให้ฉายหนังที่อยากชมตามมาอีกหลายเรื่อง ฟินกันไปตามๆ กัน

แคมเปญที่ส่งเสียงได้อย่างทรงพลังที่สุด : เมื่อชาวเชียงใหม่คนหนึ่งมองไม่เห็นดอยสุเทพเพราะโดนฝุ่นควันบังมิด จึงมาสร้างเรื่องรณรงค์ให้ “ภาคเอกชนนำโดย CP ออกมาประกาศจุดยืนแสดงความรับผิดชอบหยุดฝุ่นควันในภาคเหนือ…”แล้วเอาดอยสุเทพของเฮาคืนมา! การเรียกร้องไปยังบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศโดยคนเล็กๆ ผ่านกระบอกเสียงอย่าง Change.org ครั้งนี้ ทำให้บริษัทโตๆ ต้องออกมาให้คำตอบเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวผ่านตัวเรื่องรณรงค์บนเว็บไซต์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเสียงเล็กๆ ที่ลั่นไปถึงยอดดอยนั่นเลย

แคมเปญเกี่ยวกับมนุษย์ที่ตัวเล็กที่สุด (แต่สะเทือนไปหลายวงการ) : แคมเปญ “หยุดโฆษณานมผงเกินจริง” เรียกร้องให้มีการควบคุมการตลาดนมผงสำหรับเด็กและทารก โดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงและการตลาดแอบแฝง ซึ่งส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวทั้งในบรรดาผู้ผลิตนมผง บริษัทโฆษณา แพทยสภาและสมาคมกุมารแพทย์  ล่าสุด มีเสียงขานรับจากรัฐบาลว่าจะห้ามโฆษณานมผงเด็กทุกรูปแบบแล้ว ถือเป็นเสียงแจ๋วๆ เพื่อคนตัวจิ๋ว

แคมเปญรณรงค์ที่โดนใจผู้บริโภคมากที่สุด : แคมเปญ “หยุดการส่งต่อหรือซื้อขายฐานข้อมูลลูกค้าให้ภายนอกเพื่อลดการโทรขายประกัน/คอร์ส/แพคเกจ ฯลฯ” และ “ธนาคารหยุดขายพ่วงประกันบนบัตร ATM” และ “ให้ลงโทษสถานหนักค่ายโทรศัพท์ที่หน่วงเหนี่ยวการย้ายค่ายเกิน 3 วัน” คือ 3 ประเด็นการรณรงค์ที่แทงใจดำผู้บริโภคมากที่สุด ทุกครั้งที่ทีม Change.org โพสต์ลิงค์แคมเปญบนเฟซบุ๊กจะได้รับคอมเม้นต์แบบจากก้นบึ้งของหัวใจผู้บริโภคที่ได้รับประสบการณ์ตรงมามากมาย (พร้อมปุ่มกด ‘โกรธ’) การสร้างเรื่องรณรงค์จากความตะขิดตะขวงใจ ความรำคาญ และความสงสัยมักเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การมีอารมณ์ร่วมของสังคม

หนึ่งในแคมเปญที่ได้รับชัยชนะด้วยชื่อสนับสนุนน้อยที่สุด : การรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องมาจากรายชื่อผู้สนับสนุนจำนวนมากเสมอไป เรื่องรณรงค์ “อยากให้ขอนแก่นมีรถขนส่งมวลชนวิ่งจากสนามบินเข้ามาในเมือง” มีผู้สนับสนุนเพียง 1,020 รายชื่อเท่านั้น แต่ก็มีพลังพอที่จะทำให้หน่วยงานประจำจังหวัดขอนแก่นเตรียมวางแผนจัดรถขนส่งมวลชนตามคำเรียกร้อง เป็นทางเลือกให้ผู้โดยสารมีสิทธิเมินแท็กซี่ที่ค่าโดยสารเที่ยวละ 200 บาท (ประหยัดได้หลายเลยจ้า)

เรื่องรณรงค์ยอดนิยมประจำสัปดาห์บน Change.org

Written by
hatailimprayoonyong
February 7, 2017 8:57 am